วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

Thailand-Switzerland Relations

 

Thailand-Switzerland Relations

















ความสัมพันธ์ไทย-สมาพันธรัฐสวิส


ความสัมพันธ์ทั่วไป      


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิสได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสมาพันธรัฐสวิสในปี 2440 ต่อมา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2474 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามย่อในสนธิสัญญาไมตรีและการค้า ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จึงถือให้วันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิส (ทั้งนี้  มีการลงนามสนธิสัญญาดังกล่าวฉบับเต็ม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2474)

เดิมสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส มีเขตอาณาครอบคลุมสวิตเซอร์แลนด์ จนกระทั่งปี 2491 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งสถานราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น ขึ้น โดยมีหลวงดิฐการภักดี (จรูญ บุญยรัตพันธ์) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น คนแรก และต่อมาได้ยกระดับเป็นสถานเอกอัครราชทูตในปี 2502 เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น คนปัจจุบัน ได้แก่ นายจักรี ศรีชวนะ นอกจากนี้ ไทยยังมีคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา โดยมีนายเสข วรรณเมธี ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา รวมทั้งมีคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก โดยมีนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์อีก 3 แห่ง โดยนาย Thomas Burckhardt ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำเมืองบาเซิล นาย Markus Albert Frey ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำนครซูริก และนาย Armand Jost ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำนครเจนีวา

ในส่วนของสวิส นาย Ivo Sieber ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย นอกจากนี้ รัฐบาลสวิสยังได้แต่งตั้งให้นาย Marc-Henri Dumur ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดเชียงใหม่ และ นาง Andrea Eva Kotas Tammathin ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดภูเก็ต



ความสัมพันธ์ทางการเมือง


ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างราบรื่น โดยมีการประชุมหารือทางการเมือง (Political Consultation) ในระดับรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกลไกหลักสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี (มีการจัดการประชุมภายใต้กรอบดังกล่าวแล้ว 4 ครั้ง โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561) และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอทั้งในระดับราชวงศ์และรัฐบาล ประกอบกับสวิตเซอร์แลนด์เป็นสถานที่หลักในจัดการประชุมระหว่างประเทศภายใต้กรอบองค์การสหประชาชาติ จึงมีคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้  เมื่อเดือนกันยายน 2561 ฝ่ายสวิสได้จัดตั้งกลุ่มรัฐสภามิตรภาพสวิตเซอร์แลนด์ – ไทย (Switzerland – Thailand Parliamentary Friendship Group) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนาง Roberta Pantani สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐติชิโน่ ดำรงตำแหน่งประธาน และมีนาง Marina Carobbio Guscetti ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิก



ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ



การค้า


ในปี 2560 สมาพันธรัฐสวิสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ในกลุ่ม EFTA (สมาพันธรัฐสวิส นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) การค้ารวมไทย – สวิสมีมูลค่า 11,283.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 25.68 โดยไทยขาดดุลการค้า 3,065.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปสมาพันธรัฐสวิส ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ถนอมผิว และสินค้านำเข้าที่สำคัญจากสมาพันธรัฐสวิส ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม



การลงทุน


สมาพันธรัฐสวิสเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่จากยุโรปในประเทศไทย เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2409 ปัจจุบัน มีบริษัทสวิสกว่า 150 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในไทย โดยเป็นบริษัทชั้นนำในสาขาต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนนาฬิกา อาหาร การเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สมาพันธรัฐสวิสลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในไทยผ่านสำนักงาน BOI มากกว่า 230 โครงการ โดยในปี 2559 มีการลงทุนของสมาพันธรัฐสวิสในประเทศไทย 11 โครงการ รวมมูลค่า 3,524.43 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเคมีและกระดาษ ผลิตภัณฑ์และเครื่องจักรที่ทำจากเหล็ก ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และภาคบริการ บริษัทไทยที่มีการลงทุนในสมาพันธรัฐสวิสที่สำคัญ ได้แก่ ธุรกิจการโรงแรม เครื่องใช้ไฟฟ้า และนาฬิกา



การท่องเที่ยว


ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวสวิสเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 209,057 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากปี 2559 (130,375 คน) มากเป็นอันดับ 7 ในกลุ่มประเทศยุโรป โดยประเทศไทยได้รับความนิยมในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลอันดับ 2 ของนักท่องเที่ยวชาวสวิสรองจากสหรัฐอเมริกา  ในปีเดียวกัน มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวสมาพันธรัฐสวิส จำนวน 108,303 คน



ความร่วมมือด้านอื่น ๆ


การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการ


โดยที่สมาพันธรัฐสวิสมีความสามารถทางด้านการแข่งขันเป็นอันดับต้นของโลก โดยเฉพาะการมีองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยได้มีความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสวิส เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในสาขาที่ฝ่ายสวิสมีความเชี่ยวชาญ 



ชุมชนไทยในสมาพันธรัฐสวิส


มีคนไทยพำนักอยู่ในสมาพันธรัฐสวิสประมาณ 36,000 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีไทยที่สมรสกับชาวสวิส เป็นแม่บ้าน หรือเปิดร้านอาหารไทย มีวัดไทยในสมาพันธรัฐสวิส 5 แห่ง ได้แก่ วัดศรีนครินทรวราราม เมืองเกรทเซนบาค วัดพุทธวิหารเอชาลองส์ เมืองโลซาน วัดธรรมปาละ กรุงเบิร์น วัดพุทธเจนีวา นครเจนีวา และวัดไทยติชิโน่ รัฐติชิโน่ นอกจากนี้ ยังมีสมาคมไทย 17 สมาคม มูลนิธิ 1 แห่ง (มูลนิธิสมเด็จย่าเพื่อวัดศรีนครินทรวราราม) ร้านอาหารไทย ประมาณ 400 ร้าน และร้านสปาไทย ประมาณ 200 ร้าน แห่ง

                                                                                         

(ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2562)



CR  ::   https://www.thaiembassy.ch/Content/Embassy/96.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แบบฟอร์มการแปลเอกสารราชการ

   แบบฟอร์มการแปลเอกสารราชการ ตัวอย่างแบบฟอร์มการแปลเอกสารราชการ สำหรับท่านที่ต้องนำเอกสารราชการของไทยไปติดต่อกับหน่วยงานของสหรัฐฯ และต้องแป...