วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ความสัมพันธ์ไทย-ลิกเตนสไตน์

 

ความสัมพันธ์ไทย-ลิกเตนสไตน์

ราชรัฐลิกเตนสไตน์

 

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

1.   ความสัมพันธ์ทั่วไป                                                  

            ไทยและราชรัฐลิกเตนสไตน์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น มีเขตอาณาครอบคลุมราชรัฐลิกเตนสไตน์ โดยเอกอัครราชทูต  ณ กรุงเบิร์น คนล่าสุด ได้แก่ นายจักรี ศรีชวนะ (โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำราชรัฐลิกเตนสไตน์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565) 

      1.1   การเมือง

             ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชรัฐลิกเตนสไตน์เป็นไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ดี ยังไม่มีกลไกด้านการเมืองในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน

      1.2   การค้า

             ราชรัฐลิกเตนสไตน์เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association – EFTA) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับไทย  ราชรัฐลิกเตนสไตน์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 109 ของไทย โดยในช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม 2564 ไทยและราชรัฐลิกเตนสไตน์ มีมูลค่าการค้ารวม 82.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นการส่งออก 77.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้า 4.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า 73.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

              สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังราชรัฐลิกเตนสไตน์ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องใช้ในครัวเรือน และสินค้านำเข้าที่สำคัญจากราชรัฐลิกเตนสไตน์ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม

      1.3   การลงทุน

            ไทยและราชรัฐลิกเตนสไตน์ยังมีการลงทุนระหว่างกันไม่มากนัก โดยไทยไม่มีการลงทุนในราชรัฐลิกเตนสไตน์ มีเพียงร้านอาหารไทยจำนวน 3 ร้าน ในส่วนของราชรัฐลิกเตนสไตน์ มีการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยโดยมีบริษัท ฮิลติ (Hilti) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรกลสำหรับการก่อสร้างและเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ที่สุดในราชรัฐลิกเตนสไตน์ ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2542 เพื่อจัดตั้งบริษัทนำเข้าและจำหน่ายสินค้าของบริษัท และจัดตั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุง

 

2.   ความตกลงที่สำคัญกับไทย

    ทั้งสองประเทศยังไม่มีการจัดทำความตกลงระหว่างกัน

 

                                                                                              สอท. ณ กรุงเบิร์น

                                                                                               15 มิ.ย. 2565



 

YouTube Video


 

YouTube Video






YouTube Video




ที่มา  ::  https://sites.google.com/site/prapasara/j7

https://www.thaiembassy.ch/Content/Embassy/99.html

ประเทศลิกเตนสไตน์

 

ประเทศลิกเตนสไตน์



https://youtu.be/vm2oGqKJF_U



 

YouTube Video


 

YouTube Video






YouTube Video







CR  ::   https://www.thaiembassy.ch/Content/Embassy/98.html

ที่มา  ::  https://sites.google.com/site/prapasara/j7



สายสัมพันธ์ทางใจ สานสายใยไทย-สวิส

 สายสัมพันธ์ทางใจ สานสายใยไทย-สวิส


สมาพันธรัฐสวิส หรือที่คนไทยมักเรียกว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มิได้มีเพียงชื่อเสียงในมุมมองสำหรับคนไทยว่าเป็นชาติที่วางตัวเป็นกลางในประชาคมโลก มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่ง เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งผลิตนาฬิกาชั้นดีและช็อกโกแลตรสเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งสำคัญทางด้านจิตใจ นั่นคือ ประเทศนี้เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ถึงสองพระองค์ และยังมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยพึงจารึกไว้นานัปการ

ความสัมพันธ์ในระดับรัฐ ระหว่างประเทศไทยและสวิตเซอร์แลนด์เริ่มต้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป โดยได้เสด็จประพาสสวิตเซอร์แลนด์ทั้งสองครั้งในปี พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450 ต่อมาทั้งสองประเทศได้ลงนามย่อในสนธิสัญญาไมตรีและการค้าระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ณ กรุงโตเกียว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองประเทศจึงได้ถือให้วันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ทั้งนี้ การลงนามสนธิสัญญาฯ ดังกล่าวได้มีขึ้นในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ดังนั้นในปี พ.ศ. 2554 ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์จึงจะมีวาระครบ 80 ปี ซึ่งตลอดช่วงเวลาเหล่านี้มีความราบรื่นตลอดมา และรัฐบาลทั้งสองประเทศจะเฉลิมฉลองวาระที่น่ายินดีเช่นนี้ต่อไป

ราชสกุลมหิดล

ภายหลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคตในปีพ.ศ. 2472 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา ได้ทรงประทับอยู่เมืองไทยกระทั่งมีพระชนมายุ 5 พรรษา จึงทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ กระทั่งปี พ.ศ. 2476 จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) ในวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเอกอล นูเวล เดอ ลา ซืออีส โรมองต์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) ต่อมาทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ (Bachelier es Lettres) จาก โรงเรียนมัธยมคลาซีค กังโตนาล (Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์ เมื่อ พ.ศ. 2488 และในปีเดียวกันนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ (Université de Lausanne) โดยทรงเลือกศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์

พระอิริยาบถของรัชกาลที่ 8 และ 9 เมื่อครั้งทรงประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "แม่เล่าให้ฟัง" ความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเลือกทะเลสาบเลอมอง (Lac Leman) เขตปุยยี (Pully) เป็นสถานที่พักผ่อนอยู่เสมอ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบและกรรเชียงเรือเล่นในทะเลสาบแห่งนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวสวิสนิยมในช่วงฤดูร้อน

ห่างจากทะเลสาบเลอมองไม่ไกลนักบนถนนทิสโซต์ เป็นที่ตั้งของแฟลตเลขที่ 16 ที่ทั้งสี่พระองค์ทรงใช้เป็นที่ประทับในช่วงปีพ.ศ. 2476-2478 ห่างจากแฟลตจะเป็นที่ตั้งของที่ทำการไปรษณีย์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำเนินไปส่งจดหมายถวายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และไม่ไกลกันคือสถานีรถไฟและตลาดที่ทั้งสี่พระองค์ทรงซื้อเครื่องเสวยเป็นประจำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่มาทรงสละราชสมบัติ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 9 พรรษา ดังนั้นเพื่อให้สมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงทรงย้ายจากแฟลตไปประทับที่บ้านเช่าบนเนินเขาไม่ไกล จากทะเลสาบเลอมอง บ้านเลขที่ 51 บนถนน Chamblandes Dessusy ทรงตั้งชื่อว่า “วิลลาวัฒนา” (Villa Vadhana) และประทับอยู่นานกว่า 10 ปี ลักษณะเป็นบ้าน 3 ชั้น มี 13 ห้องมีสวนผลไม้อยู่รายล้อม ปัจจุบันเจ้าของได้พัฒนาเป็นแฟลต 3 ชั้นให้เช่า

พระตำหนักวิลล่าวัฒนาในอดีต

บนเนินเขาใกล้กับพระตำหนักวิลล่าวัฒนามีสวนสาธารณะเดอ น็องตู (Parc du Denantou) ให้ทั้งสี่พระองค์ได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่เป็นประจำ พื้นที่ด้านในมีน้ำพุรูปปั้นลิงสามตัว กำลังทำท่าปิดหู ปิดปาก และปิดตา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงนิพนธ์ว่าหมายถึง “ไม่ยอมฟัง ดู พูดในสิ่งที่เลว”

ต่อมาในปี 2478 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2481 แล้วเสด็จกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระทั่งปี พ.ศ. 2488 จึงโดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิมเพื่อให้เหมาะสมกับการนำมาใช้ดูแลปวงชนชาวไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ในวันราชาภิเษกสมรส

ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร และต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้นปีพ.ศ. 2493 เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครและโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมในปีเดียวกัน หลังจากนั้นจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรกคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ (Clinique de Montchoisi) เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ 4 เมษายนพ.ศ. 2494 และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรหลังจากทรงประทับพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2476 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2494 รวม 18 ปี

กาลต่อมา เมื่อวันที่ 29-31 สิงหาคม 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสวิตเซอร์แลนด์อย่างเป็นทางการเพื่อเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยและสมาพันธรัฐสวิสให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งเยือนสวิตเซอร์แลนด์

ชาวสวิสรอชื่นชมพระบารมีกันอย่างเนืองแน่นบริเวณสถานีรถไฟเมืองโลซานน์

ด้วยสายสัมพันธ์ทางจิตใจที่ประชาชนชาวไทยมีให้กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเคยเป็นสถานที่ประทับของหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ผู้ทรงสถิตอยู่ในใจคนไทยทั้งแผ่นดิน และด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิสที่จะมีวาระครบปีที่ 80 ใน พ.ศ.2554 นี้ ความสัมพันธ์ทั้งระหว่างชาวไทยและชาวสวิส และระหว่างรัฐต่อรัฐย่อมดำเนินไปอย่างราบรื่นและแนบแน่นยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะความผูกพันทางจิตใจอันมีรากฐานที่แนบแน่น ย่อมนำไปสู่มิตรภาพที่ยั่งยืน


เรียบเรียงโดย นางสาวพรพิมล สมนึก

นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น


ข้อมูลอ้างอิง

  • กัลยาณิวัฒนา, กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. 2525. แม่เล่าให้ฟัง. พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขและเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ.

  • กัลยาณิวัฒนา, กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. 2530. เจ้านายเล็กๆ- ยุวกษัตริย์. พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขและเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.

  • นิศารัตน์ สีตะสุวรรณ. 2543. สวิตเซอร์แลนด์. กรุงเทพฯ : อทิตตา.

  • รังสฤษฎิ์ บุญชะลอ. 2542. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9 (72 พรรษามหาราช). ปทุมธานี : สกายบุ๊กส์.

  • โรงเรียนจิตรลดา.2539. ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ (The Musical Compositions of His Majesty King Bhumibol Adulyadej of Thailand). กรุงเทพฯ : โรงเรียนจิตรลดา.

  • วิเชียร เกษประทุม. 2542. ราชาศัพท์ฉบับสมบูรณ์และพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พร้อมพระราชวงศ์โดยสังเขป. กรุงเทพฯ : มิตรสัมพันธ์.

  • อุดม เชยกีวงศ์. 2550. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9. กรุงเทพฯ : แพลทินัม.





CR   ::     https://www.thaiembassy.ch/Content/Embassy/97.html

Thailand-Switzerland Relations

 

Thailand-Switzerland Relations

















ความสัมพันธ์ไทย-สมาพันธรัฐสวิส


ความสัมพันธ์ทั่วไป      


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิสได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสมาพันธรัฐสวิสในปี 2440 ต่อมา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2474 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามย่อในสนธิสัญญาไมตรีและการค้า ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จึงถือให้วันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิส (ทั้งนี้  มีการลงนามสนธิสัญญาดังกล่าวฉบับเต็ม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2474)

เดิมสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส มีเขตอาณาครอบคลุมสวิตเซอร์แลนด์ จนกระทั่งปี 2491 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งสถานราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น ขึ้น โดยมีหลวงดิฐการภักดี (จรูญ บุญยรัตพันธ์) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น คนแรก และต่อมาได้ยกระดับเป็นสถานเอกอัครราชทูตในปี 2502 เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น คนปัจจุบัน ได้แก่ นายจักรี ศรีชวนะ นอกจากนี้ ไทยยังมีคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา โดยมีนายเสข วรรณเมธี ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา รวมทั้งมีคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก โดยมีนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์อีก 3 แห่ง โดยนาย Thomas Burckhardt ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำเมืองบาเซิล นาย Markus Albert Frey ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำนครซูริก และนาย Armand Jost ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำนครเจนีวา

ในส่วนของสวิส นาย Ivo Sieber ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย นอกจากนี้ รัฐบาลสวิสยังได้แต่งตั้งให้นาย Marc-Henri Dumur ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดเชียงใหม่ และ นาง Andrea Eva Kotas Tammathin ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สมาพันธรัฐสวิส ณ จังหวัดภูเก็ต



ความสัมพันธ์ทางการเมือง


ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างราบรื่น โดยมีการประชุมหารือทางการเมือง (Political Consultation) ในระดับรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกลไกหลักสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี (มีการจัดการประชุมภายใต้กรอบดังกล่าวแล้ว 4 ครั้ง โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561) และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอทั้งในระดับราชวงศ์และรัฐบาล ประกอบกับสวิตเซอร์แลนด์เป็นสถานที่หลักในจัดการประชุมระหว่างประเทศภายใต้กรอบองค์การสหประชาชาติ จึงมีคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้  เมื่อเดือนกันยายน 2561 ฝ่ายสวิสได้จัดตั้งกลุ่มรัฐสภามิตรภาพสวิตเซอร์แลนด์ – ไทย (Switzerland – Thailand Parliamentary Friendship Group) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนาง Roberta Pantani สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐติชิโน่ ดำรงตำแหน่งประธาน และมีนาง Marina Carobbio Guscetti ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิก



ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ



การค้า


ในปี 2560 สมาพันธรัฐสวิสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ในกลุ่ม EFTA (สมาพันธรัฐสวิส นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) การค้ารวมไทย – สวิสมีมูลค่า 11,283.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 25.68 โดยไทยขาดดุลการค้า 3,065.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปสมาพันธรัฐสวิส ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ถนอมผิว และสินค้านำเข้าที่สำคัญจากสมาพันธรัฐสวิส ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม



การลงทุน


สมาพันธรัฐสวิสเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่จากยุโรปในประเทศไทย เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2409 ปัจจุบัน มีบริษัทสวิสกว่า 150 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในไทย โดยเป็นบริษัทชั้นนำในสาขาต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนนาฬิกา อาหาร การเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สมาพันธรัฐสวิสลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในไทยผ่านสำนักงาน BOI มากกว่า 230 โครงการ โดยในปี 2559 มีการลงทุนของสมาพันธรัฐสวิสในประเทศไทย 11 โครงการ รวมมูลค่า 3,524.43 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเคมีและกระดาษ ผลิตภัณฑ์และเครื่องจักรที่ทำจากเหล็ก ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และภาคบริการ บริษัทไทยที่มีการลงทุนในสมาพันธรัฐสวิสที่สำคัญ ได้แก่ ธุรกิจการโรงแรม เครื่องใช้ไฟฟ้า และนาฬิกา



การท่องเที่ยว


ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวสวิสเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 209,057 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากปี 2559 (130,375 คน) มากเป็นอันดับ 7 ในกลุ่มประเทศยุโรป โดยประเทศไทยได้รับความนิยมในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลอันดับ 2 ของนักท่องเที่ยวชาวสวิสรองจากสหรัฐอเมริกา  ในปีเดียวกัน มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวสมาพันธรัฐสวิส จำนวน 108,303 คน



ความร่วมมือด้านอื่น ๆ


การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการ


โดยที่สมาพันธรัฐสวิสมีความสามารถทางด้านการแข่งขันเป็นอันดับต้นของโลก โดยเฉพาะการมีองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยได้มีความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสวิส เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในสาขาที่ฝ่ายสวิสมีความเชี่ยวชาญ 



ชุมชนไทยในสมาพันธรัฐสวิส


มีคนไทยพำนักอยู่ในสมาพันธรัฐสวิสประมาณ 36,000 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีไทยที่สมรสกับชาวสวิส เป็นแม่บ้าน หรือเปิดร้านอาหารไทย มีวัดไทยในสมาพันธรัฐสวิส 5 แห่ง ได้แก่ วัดศรีนครินทรวราราม เมืองเกรทเซนบาค วัดพุทธวิหารเอชาลองส์ เมืองโลซาน วัดธรรมปาละ กรุงเบิร์น วัดพุทธเจนีวา นครเจนีวา และวัดไทยติชิโน่ รัฐติชิโน่ นอกจากนี้ ยังมีสมาคมไทย 17 สมาคม มูลนิธิ 1 แห่ง (มูลนิธิสมเด็จย่าเพื่อวัดศรีนครินทรวราราม) ร้านอาหารไทย ประมาณ 400 ร้าน และร้านสปาไทย ประมาณ 200 ร้าน แห่ง

                                                                                         

(ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2562)



CR  ::   https://www.thaiembassy.ch/Content/Embassy/96.html

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์



CR  ::   https://www.thaiembassy.ch/Content/Embassy/95.html
.

 





ศาลาไทย ณ เมืองโลซานน์

 ศาลาไทย ณ เมืองโลซานน์


ศาลาไทย

หลายหลายเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชดำเนินขึ้นที่เมืองโลซานน์ กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น จึงเลือกเมืองแห่งนี้เป็นสถานที่ตั้งศาลาไทย ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีและเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 75 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิสในปีพ.ศ. 2549


ศาลาไทย ณ เมืองโลซานน์

ทางการสวิสได้อนุญาตให้รัฐบาลไทยก่อสร้างศาลาไทย (Le Pavillon Thailandais) ในพื้นที่สวนสาธารณะเดอน็องตู ตำบลอุชชี่ (Ouchy) ในเขตเทศบาลเมืองโลซานน์ กระทรวงต่างประเทศสนับสนุนงบประมาณ กรมศิลปากรดำเนินการก่อสร้าง โดยมีพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น สถาปนิกหลวง ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมและอดีตอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ นายก่อเกียรติ ทองผุด เป็นนายช่างศิลปกรรม นายเศกสรรค์ ปัญญารัมย์ เป็นนายช่างเขียนแบบ นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา ช่างฝีมือและคนงาน 50 คน ร่วมกันสร้างชิ้นส่วนทุกชิ้นจากโรงงานในเมืองไทย รวมทั้งการทำฐานและบันไดด้วยหินแกรนิต ใช้ระยะเวลาประมาณสามเดือนจึงเสร็จสิ้น ขนส่งทางเรือจากประเทศไทยมายังสวิตเซอร์แลนด์

ศาลาไทย ณ เมืองโลซานน์ (Le Pavillon Thailandais) ถ่ายเมื่อ 2 ก.ค. พ.ศ.2553

เทศบาลเมืองโลซานน์รับผิดชอบงานปรับพื้นที่และภูมิทัศน์ การติดตั้งกล้องวงจรปิด เครื่องตรวจจับควันไฟ ระบบแสงและไฟฟ้า และการดูแลศาลาไทยภายหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว กระทั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2550 จึงเปิดให้สาธารณชนได้ชื่นชม โดยเฉพาะในช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ศาลาไทยได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของเมืองโลซานน์ให้นักท่องเที่ยวได้มาถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก

ศาลาไทยหลังนี้เป็นศาลาไม้แบบจัตุรมุขคือ มีหน้าจั่วสี่ด้าน ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 16 เมตร น้ำหนักเฉพาะตัวศาลาอยู่ที่ประมาณ 27 ตัน ก่อสร้างด้วยไม้ตะเคียนและไม้สักตามลักษณะการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมไทยแบบโบราณ ประดับตกแต่งด้วยเครื่องลำยองคือ ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ส่วนที่สำคัญที่สุดของศาลาหลังนี้คือ ลวดลายที่หน้าจั่วหรือที่เรียกว่า หน้าบัน เป็นที่ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ ด้านหน้าทางทิศใต้คือพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้านตะวันตกคือพระปรมาพิไธยย่อ อปร. ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ด้านตะวันออกคือพระนามาภิไธยย่อ สว. ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ส่วนหน้าบันด้านทิศเหนือประดับตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน

สิ่งที่นำความปลาบปลื้มใจมาสู่พสกนิกรชาวไทยที่อาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์คือ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองโลซานน์เป็นการส่วนพระองค์เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดศาลาไทยอย่างเป็นทางการ คนไทยที่เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทจึงได้ชื่นชมพระบารมีของพระองค์ท่านด้วยความปีติยินดี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับนายดาเนียล เบรลาซ์ นายกเทศมนตรีเมืองโลซานน์

ข้อมูลอ้างอิง

  • กัลยาณิวัฒนา, กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. 2525. แม่เล่าให้ฟัง. พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขและเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ.

  • กัลยาณิวัฒนา, กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. 2530. เจ้านายเล็กๆ- ยุวกษัตริย์. พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขและเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.

  • พัชรินทร์ (บุณยนิยม) ไรเตอร์. 2553. ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เมืองโลซานน์. กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์ดีการพิมพ์ จำกัด.

  • โรงเรียนจิตรลดา.2539. ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ (The Musical Compositions of His Majesty King Bhumibol Adulyadej of Thailand). กรุงเทพฯ : โรงเรียนจิตรลดา.

  • Aerni, Agathon. 1997. Siam-Swiss Centenary: The Growth of a Friendship. Bangkok : Amarin Printing.

ศาลาไทย "100 ปีสมเด็จพระปิยะฯ"

เรียบเรียงโดย นางสาวสุธินี แข็งแรง

ผู้ช่วยดำเนินการด้านการเมือง

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่17-31 พฤษภาคม 2440 และในปี 2540 เนื่องในวโรกาสครบรอบ 100 ปีของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวโรกาสดังกล่าวที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยและสมาพันธรัฐสวิสที่สืบเนื่องมายาวนาน จึงได้จัดสร้างศาลาไทยบนลานหญ้าหน้าที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น

ศาลาไทย หน้าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ถ่ายเมื่อ 19 กันยายน 2553

ศาลาไทยดังกล่าวก่อสร้างตามแบบของศาลาไทยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเป็นของขวัญแก่เมือง Bad Homburg ประเทศเยอรมนี ภายหลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ลักษณะเป็นแบบศาลาราย ขนาดกว้าง 2.5 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 7 เมตร มีมุข 2 ด้าน หลังคาซ้อน 2 ชั้น มีปีกนกโดยรอบ ชั้นฐานปูลาดด้วยหินแกรนิตสีเขียวอ่อน หน้าบันมีลายเครือเถาและพระปรมาภิไธยย่อ จปร.(ความหมายคือ เป็นพระบรมราชานุสรณ์ของ ร.5 ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 (ค.ศ.1897) อีกด้านหนึ่งเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.(ความหมายคือ ศาลาหลังนี้สร้างในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9)เสาทั้งสี่ต้นเป็นลายรดน้ำ ลายทอง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และลายหน้าสิงห์ ซึ่งมีความวิจิตรสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทยชั้นสูง ตรงส่วนเพดานมีข้อความบันทึกว่า “พระบรมราชานุสรณ์ 100 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนสวิตเซอร์แลนด์ พุทธศักราช 2440-2540”

ภาพถ่ายข้อความที่จารึกไว้ในศาลาไทย ถ่ายเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553

พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น สถาปนิกหลวง ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมและอดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบศาลาไทยหลังนี้ กรมศิลปากรได้จ่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช. ลิขิตการช่างสร้าง ดำเนินการสร้างชิ้นส่วนต่างๆ แล้วขนส่งทางเรือจากประเทศไทยไปประกอบเป็นศาลาไทยที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2541 โดยงบประมาณในการก่อสร้างมาจากโครงการจำหน่ายบัตรโทรศัพท์ชุด “ร้อยปีสยาม-สวิส” และจากการบริจาคไม้ที่เป็นวัสดุก่อสร้างจากคุณวิกรม - คุณอังคณา อัยศิริ รวมทั้งความร่วมแรงร่วมใจของชาวไทยทั้งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยทั้งหลาย และบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)รวมมูลค่าของศาลาไทยทั้งสิ้นประมาณ 5,529,320 บาท

สิ่งที่เป็นที่ภาคภูมิใจและความปลื้มปีติมาสู่ผู้ดำเนินการจัดสร้างศาลาแห่งนี้และประชาชนไทยที่พำนักอาศัยอยู่ในสมาพันธรัฐสวิสคือ เมื่อการก่อสร้างศาลาไทยดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานเปิดศาลาและสถานที่ทำการแห่งใหม่ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 และพระราชทานพระราชวโรกาสให้เจ้าหน้าที่และประชาชนชาวไทยได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท

นอกจากเป็นศาลาที่สร้างขึ้นในวโรกาสสำคัญของการครบรอบ 100 ปี เสด็จประพาสต้นของพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว ศาลาไทยหลังนี้กลายเป็นจุดสังเกตสำคัญ(landmark)ของประชาชนในเขต Köniz และของย่านถิ่นอาศัยใกล้เคียง ชาวสวิสที่ผ่านไปมาล้วนให้ความสนใจ สถานเอกอัครราชทูตจึงเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมศาลาไทย และยังใช้เป็นสถานที่จัดแสดงและแสดงนิทรรศการด้านศิลปวัฒนธรรมไทยด้วยเช่นกัน

ศาลาแห่งนี้ไม่เพียงมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในแง่การเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสวิตเซอร์แลนด์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2440 เท่านั้น หากยังเป็นถาวรวัตถุที่สะท้อนความสัมพันธ์อันดีทั้งสองฝ่ายระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งเป็นผลงานทางสถาปัตยกรรมที่เชิดชูเอกลักษณ์ของไทย แสดงให้เห็นความเป็นอารยะประเทศ และทรงไว้ซึ่งคุณค่าแห่งศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งหมดทั้งปวงย่อมทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐสวิสรวมทั้งระหว่างประชาชนของทั้ง ประเทศให้ยั่งงยืนนานสถาพรตลอดไป


เรียบเรียงโดย นางสาวพรพิมล สมนึก

นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น


ข้อมูลอ้างอิง

  • แฟ้มการก่อสร้างศาลาไทย 100 ปี เสด็จประพาสต้น ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ สถานเอกอัครราชทูต ฯ กรุงเบิร์น

  • คำกราบบังคมทูลรายงาน ของ ฯพณฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ( ในขณะนั้น ) ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงประกอบพิธีเปิดที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541

  • หนังสือเรื่อง “ 100 ปี สยาม – สวิตเซอร์แลนด์”
  • https://www.thaiembassy.ch/Content/Embassy/84.html










วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

Royal Thai Embassy Switzerland, Bern.

https://www.thaiembassy.ch/

https://www.thaiembassy.ch/



ประวัติที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ


 
 

อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์นตั้งอยู่ที่ Kirchstrasse 56, Liebefeld ในเขตเทศบาลเมืองเคอนิซ (Köniz) รัฐเบิร์น ห่างจากใจกลางกรุงเบิร์น เมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นอาคารคอนกรีต 5 ชั้น รวมชั้นใต้ดินและห้องใต้หลังคา มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,839 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ภายในตัวอาคาร 572 ตารางเมตร 

 
อาคารดังกล่าวก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2468 (ค.ศ. 1925)  โดยนายเฮอร์มัน เบอร์กี (Hermann Burgi) สถาปนิก ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารและควบคุมการออกแบบและก่อสร้างอาคารด้วยตนเอง ตัวอาคารมีสถาปัตยกรรมแบบ Bernese ยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นจนได้รับการกล่าวขานในพื้นที่ว่าเป็นอาคารมีรูปทรงที่ชวนมองและแปลกไปจากอาคารอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน 

 
อาคารดังกล่าวได้เปลี่ยนไปอยู่ในความครอบครองของนายยูจีน เอเตียนน์ (Eugene Etienne) วิศวกร ในช่วงปี 2481 – 2493 (ค.ศ. 1938 – 1950) และนายฮานส์ กูกิสเบิร์ก (Hans Gugisberg) ศาตราจารย์ทางการแพทย์ ในช่วงปี 2493 - 2520 (ค.ศ. 1950 – 1977) อาคารแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกในขณะนั้นว่า Villa Gugisberg ต่อมา ในปี 2521 (ค.ศ. 1978) บริษัท CSD Ingenieurs ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างสวิส ได้ซื้ออาคาร Villa Gugisberg และเป็นเจ้าของอยู่จนถึงปี 2539 (ค.ศ. 1996) รัฐบาลไทยจึงได้ซื้ออาคารดังกล่าวจากบริษัท CSD Ingenieurs เพื่อใช้เป็นที่ทำการถาวรของสถานเอกอัครราชทูตฯ แทนการเช่าอาคารที่ทำการหลังเดิมซึ่งตั้งอยู่ในเขตใจกลางกรุงเบิร์น ด้วยเห็นว่ามีขนาดพื้นที่ใช้สอยและทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม แม้จะเป็นอาคารเก่าแต่มีโครงสร้างที่ยังอยู่ในสภาพแข็งแรง โดยรัฐบาลไทย ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายอาคารดังกล่าวกับบริษัท CSD Ingenieurs เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2539 ในราคา 4,015,000 ฟรังก์สวิส หรือ 86,322,500 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ซึ่งรวมค่าที่ดินและอาคาร 3,900,000 ฟรังก์สวิส และค่าซ่อมแซมปรับปรุง 115,000 ฟรังก์สวิส โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ในขณะนั้นเป็นผู้ลงนามในสัญญาในนามรัฐบาลไทย

 
ภายหลังการลงนามซื้อขาย ได้มีการดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 และเมื่อเดือนเมษายน 2540 และเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2540 (ค.ศ. 1997) ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้ย้ายมาอยู่ ณ ที่ทำการหลังใหม่แห่งนี้ โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างเป็นทางการ

 
 

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2543 (ค.ศ. 2000) รัฐบาลไทยได้มอบที่ดินบริเวณด้านหน้าของสถานเอกอัครราชทูตฯ ขนาด 94 ตารางเมตร ให้แก่เทศบาลเมืองเคอนิซเพื่อใช้สร้างทางเท้าเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ โดยเทศบาลเมืองเคอนิซได้มอบเงินจำนวน 100 ฟรังก์สวิสให้แก่สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อเป็นค่าตอบแทนเชิงสัญลักษณ์และสร้างกำแพงรั้วให้แก่สถานเอกอัครราชทูตฯ 

 
ปัจจุบัน อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับการจดทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ เนื่องจากมีความเก่าแก่ มีคุณค่าและเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม อาทิ การใช้หินทรายเป็นส่วนประกอบโครงสร้างด้านนอกอาคารบางส่วน และการใช้หน้าต่างสีดำและแดง ซึ่งเป็นสีประจำรัฐเบิร์นและเป็นลักษณะเฉพาะที่ปรากฏโดยทั่วไปตามอาคารในย่านเมืองเก่าของกรุงเบิร์น

 


เรียบเรียงโดย นางสาวศรัณย์พร จันทร์วรวิทย์
นักศึกษาฝึกงานประจำปี 2562 
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น


**************************



ที่มา   ::     https://www.thaiembassy.ch/Content/Embassy/105.html


ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรของติดตัวของผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศไทย ณ สนามบิน และการนำเงินเข้า-ออกประเทศ

 

ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรของติดตัวของผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศไทย ณ สนามบิน และการนำเงินเข้า-ออกประเทศ




































CR   ::    https://khonthaigaibaan.blogspot.com/

พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อยื่นขอหนังสือรับรองความประพฤติ

 

พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อยื่นขอหนังสือรับรองความประพฤติ


พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อยื่นขอหนังสือรับรองความประพฤติ

เอกสารที่ต้องนำมาประกอบการขอพิมพ์ลายนิ้วมือที่ มีดังนี้
1. รูปถ่าย 3 รูป
2. สำเนาบัตรประชาชนไทย 1 ฉบับ (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
3. สำเนาพาสปอร์ตไทย 1 ใบ (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
4. สำเนาทะเบียนบ้าน 2 ใบ (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
5. เอกสารที่ระบุจุดประสงค์การขอหนังสือรับรองความประพฤติ และชื่อหน่วยงานที่จะนำไปยื่น (หากมี)


โปรดศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม https://pcscenter.sbpolice.go.th/news/APPLICANTRESIDINGINABOARD_32.html


CR  ::   https://www.thaiembassy.be/2021/08/24/fingerprint-for-police-clearance-certificate/

ใบจารีตประเพณี (Certificate of National Custom/Akte van gewoonterecht / Certificat de coutume)

 

ใบจารีตประเพณี (Certificate of National Custom/Akte van gewoonterecht / Certificat de coutume)



ท่านต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้


  1. บัตรประชาชนไทยที่มีอายุการใช้งานพร้อมสำเนา 1 ฉบับ (รับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลายเซ็น)
  2. หนังสือเดินทางไทยพร้อมสำเนา 1 ฉบับ (รับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลายเซ็น)
  3. ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร ต่อการขอเอกสาร 1 ฉบับหรือ 1 ตราประทับ
  4. ***กรณีที่ผู้อื่นมายื่นขอเอกสารแทน โปรดเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้***
    • หนังสือมอบอำนาจเป็นภาษาไทย โดยระบุเอกสารที่ต้องการขอ ชื่อ-นามสกุล ของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ และลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจให้ชัดเจน
    • สำเนาบัตรประชาชนของผู้มายื่น 1 ฉบับ



ระยะเวลาดำเนินการ 3-7 วันทำการ


CR  ::  https://www.thaiembassy.be/2021/08/24/certificate-of-national-custom/

แบบฟอร์มการแปลเอกสารราชการ

   แบบฟอร์มการแปลเอกสารราชการ ตัวอย่างแบบฟอร์มการแปลเอกสารราชการ สำหรับท่านที่ต้องนำเอกสารราชการของไทยไปติดต่อกับหน่วยงานของสหรัฐฯ และต้องแป...